เลี้ยงน้องมาอย่างไรดีหนอ เรื่องโดย…ทีมสัตวแพทย์ แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อการเลี้ยงดูลูกสุนัขในฤดูหนาว ปลายฝนต้นหนาว ช่วงการเปลี่ยนฤดูใหม่ๆไม่ใช่แค่คนเท่านั้นที่มีโอกาสเป็นไข้หวัด ในช่วงเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวนี้เองมักจะพบได้ว่าสุนัขแสนรักก็มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคหลายๆโรค โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส สุนัขมักจะเป็นโรคติดต่อซึ่งไม่มียาตัวใดที่จะฆ่าเชื้อไวรัสนี้ได้ การที่จะทำให้สุนัขหายป่วยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับระดับอุณหภูมิคุ้มกันของตัวสัตว์เอง การรักษาจึงเป็นเพียงการประคับประคอง โดยการให้น้ำเกลือ และ ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเป็นต้น โรคชนิดต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้กับลูกสุนัขในช่วงฤดูหนาว canine herpevirus ลูกสัตว์แรกเกิดร่างกายมีอุณหภูมิต่ำ จะมีความไวต่อการติดเชื้อไวรัสนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการตายในลูกสัตว์แรกเกิดที่อายุระหว่าง 9-14 วัน ลูกสุนัขสามารถติดต่อจากแม่สัตว์ผ่านทางน้ำลาย น้ำจากช่องคลอด จะมีอาการกระวนกระวาย ร้องตลอดเวลา ปวดท้อง หายใจถี่ อาจชักหรือเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง การรักษาทำได้เพียงแบบประคับประคอง ได้แก่ การให้สารน้ำทดแทน และ การป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เพราะไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ ดังนั้นควรรักษาสุขภาพแม่สุนัขให้แข็งแรง ให้ลูกสุนัขอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นประมาณ 37 องสาเซลเซียส โรคไข้หัดสุนัข canine distemper เกิดจาดการติดเชื้อไวรัส สามารถติดต่อได้หลายทางไม่ว่าจะเป็น ทางอุจจาระ น้ำลาย ปัสสาวะ น้ำมูก น้ำตา และที่สำคัญคือการติดต่อผ่านทางอากาศและการหายใจอาการในรายที่รุนแรงจะพบว่าสัตว์มีน้ำมูกน้ำตา ไอ หายใจลำบาก ท้องเสีย อาเจียน ปอดปวม บริเวณจมูกและฝ่าเท้าจะหนาตัวขึ้น และอาการทางประสาท เช่น ชัก อัมพาต การรักษาทำได้เพียงแบบประคับประคอง เช่นเดียวกัน โรคไข้หัดสุนัขสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนและไม่สัมผัสกับสุนัขที่ติดเชื้อ เนื่องจากสภาพอากาศเย็นนั้นความชุ่มชื้นของทางเดินหายใจส่วนต้นจะน้อยทำให้กระบวนการป้องกันโรคของร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่ จะติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งไวรัส แบคทีเรีย หรือรวมกันทั้งสองอย่าง สามารถติดต่อทางการหายใจหรือสิ่งคัดหลั่ง พบได้บ่อยโดยเฉพาะแหล่งขายสุนัขที่เลี้ยงแออัด การระบายและสภาพแวดล้อมไม่ดี ร้อน หนาว หรือลมโกรกมากเกินไป มักแสดงอาการแบบเรื้อรัง มีไข้ไม่สูงนัก กินอาหารได้แต่น้อย ไอมีเสมหะ อาจพบน้ำมูกข้นเล็กน้อย การรักษาจึงทำได้เพียงแบบประคับประคอง เช่นเดียวกันแต่ถ้าไม่รักษาอาจปอดปวม หายใจลำบาก และเสียชีวิตได้ ควรป้องกันโดยปรับสภาพแวดล้อม ออกกำลังกาย อยู่ในที่ที่อบอุ่น อาจจะใส่เสื้อสำหรับสุนัขเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย จากทั้งหมดที่กล่าวมาพบว่า เรามักจะพบอัตราเสียชีวิตสูงที่สุดในลูกสุนัข ส่วนในรายสุนัขที่โตแล้วนั้น พบว่าอัตราการเสียชีวิตจะน้อยลงเนื่องจากร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานได้ ดังนั้นการทำวัคซีนตามโปรแกรมในลูกสุนัขเป็นการป้องกันโรคที่ดีอย่างหนึ่ง เจ้าของสุนัขควรตรวจเช็คประวัติวัคซีนประจำปี บำรุงรักษาสุขภาพร่างกายของสัตว์ให้แข็งแรง ได้รับโภชนาการที่เหมาะสม มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และงดการนำสุนัขไปพบปะกับสุนัขที่มีประวัติวัคซีนที่ไม่แน่นอน และพยายามให้ร่างกายสุนัขอบอุ่นอยู่เสมอ เท่านี้ก็สามารถช่วยลดอัตราการเกิดโรคไวรัสในช่วงหน้าหนาวนี้ได้แล้ว สำหรับท่านใดที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงของท่าน สามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากทีมสัตวแพทย์ แผนกอายุรกรรม ได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ซอยทองหล่อ โทร. 0-2712-6301-4 สาขาลาดพร้าว โทร. 0-2934-1407-9 สาขาสิรินทร-ปิ่นเกล้า โทร.0-2433-7550 สาขาแจ้งวัฒนะ โทร 0-2962-7028 และ สาขาศรีนครินทร์ โทร 0-2398-4314 www.thonglorpet.com |