แนวทางและมาตรการ แก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด

16396 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 
แนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด
 
       เท่าที่ผมเห็น วิธีการและมาตรการต่างๆ ที่หลายๆหน่วยงาน ได้ช่วยกันออกมาพยายามแก้ไข ปัญหาสุนัขจรจัด กันอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะมาตรการต่างๆที่นำมาใช้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ไขปัญหากันที่ปลายเหตุซะมากกว่า ผมจึงอยากเสนอแนวความคิดและมาตรการ ในการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดทั้งระบบ ให้เป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด ให้เป็นระบบและเป็นขั้นเป็นตอนต่อไป

มาตรการที่ 1. การกรองสุนัขจรจัด ที่ไม่มีเจ้าของออกจาก สุนัขที่มีเจ้าของให้ชัดเจน โดยการออกกฎหมาย ควบคุมรวมถึงบทลงโทษ กับเจ้าของสุนัขที่กระทำผิด เช่น การออกกฎหมาย ห้ามมิให้ผู้เลี้ยงสุนัข ปล่อยสุนัขของตน ออกนอกเคหะสถาน หรือที่สาธารณะโดยเด็ดขาด ถ้าสุนัขก่อความเสียหายแก่ทรัพย์สิน หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม ให้เจ้าของสุนัข ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ในความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ถ้าเจ้าของสุนัขที่มีความจำเป็น ที่จะต้องนำสุนัข ออกนอกเคหะสถาน หรือที่สาธารณะ สุนัขทุกตัวจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด จากเจ้าของสุนัข หรือผู้ดูแลสุนัขตลอดเวลา เป็นต้น

ผลพลอยได้ที่ได้จากมาตรการนี้มีหลายเรื่องคือ 1.ช่วยลดอุบัติเหตุ ในกรณีที่สุนัขวิ่งตัดหน้ารถ หรือไล่กัดผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ จนอาจทำให้เสียหลักจนเกิดอุบัติเหตุได้ 2.ช่วยลดการแพร่ระบาท ของโรคพิษสุนัขบ้า 3.ช่วยแก้ไขปัญหาสุนัขอุจจาระ และปัสสาวะ ในที่ๆไม่เหมาะสม ซึ่งอาจก่อความเดือดร้อนกับผู้อื่นได้ 4.ป้องกันสุนัขกัดหรือทำร้ายคน 5.ลดปัญหาการแพร่ขยายพันธุ์ของสุนัข ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหา

มาตรการที่ 2. ให้เจ้าของสุนัข นำสุนัขทุกตัวที่ต้องการจะเลี้ยง ไปทำการสักเบอร์หู พร้อมกับขึ้นทะเบียนตัวและทำประวัติให้เรียบร้อย ซึ่งการขึ้นทะเบียนตัวประวัติสุนัข ยังเป็นการตรวจนับประชากรสุนัขไปในตัวด้วย จะได้ทราบถึง จำนวนสุนัขที่แท้จริงว่ามีอยู่เท่าไหร่ และยังสามารถควบคุม โรคพิษสุนัขบ้า และโรคติดต่ออื่นๆ ได้ง่ายดายยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยการให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ คอยตรวจเช็คจากฐานข้อมูลประวัติของสุนัข ว่าสุนัขตัวใดบ้างที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ จะได้ทำการแจ้งเตือน ให้เจ้าของสุนัขนำสุนัขของตน ไปรับการฉีดวัคซีนให้เรียบร้อยต่อไป

การสักเบอร์หู จะมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่ามาก ซึ่งต่างกับการฝังไมโครชิพ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากๆ ถ้าใช้วิธีการสักเบอร์หู แทนการฝังไมโครชิพ จะช่วยประหยัด งบประมาณได้มหาศาลเลยที่เดียว การเลือกใช้การสักเบอร์หูสุนัข พร้อมกับการขึ้นทะเบียนตัวและประวัติสุนัข ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะจุดประสงค์ ที่แท้จริงก็เพื่อ ให้ทราบว่าสุนัขบ้านอยู่ที่ไหน และใครเป็นเจ้าของสุนัขเท่านั้น

มาตรการที่ 3. เมื่อกรองสุนัขจรจัด ออกจากสุนัขที่มีเจ้าของได้แล้ว ก็จะเหลือแต่สุนัขที่เป็นสุนัขจรจัดจริงๆเท่านั้น ขั้นตอนนี้ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ออกจับสุนัขจรจัดที่ไม่มีเจ้าของทั้งหมด ไปไว้ยังสถานที่รับเลี้ยงสุนัขจรจัด และให้แยกเลี้ยงสุนัขเพศผู้และสุนัขเพศเมียออกจากกัน เพื่อป้องกันการผสมพันธุ์กันเองของสุนัข โดยวิธีนี้ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำหมันสุนัขแต่อย่างใด และให้เลี้ยงสุนัขจรจัดทั้งหมด จนกว่าจะสิ้นอายุขัย

มาตรการที่ 4. จัดให้มีสถานที่และเจ้าหน้าที่ ในการทำโครงการ หาบ้านใหม่ให้สุนัข ซึ่งทุกวันนี้ก็มีโครงการดีๆแบบนี้อยู่บ้างแล้ว เพียงแต่ส่งเสริมให้ดูชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยการคัดเลือกสุนัขที่มีความเหมาะสม ในด้านนิสัยและพฤติกรรมที่ดี ให้กับผู้ที่มีความพร้อม ในการที่จะขอรับสุนัขไปอุปการะ ควรทำหมันสุนัขทุกตัวที่เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งโครงการนี้ จะเป็นการ ช่วยลดจำนวนสุนัขจรจัด ที่สถานรับเลี้ยงสุนัขจรจัด ต้องรับผิดชอบได้ดีอีกทางหนึ่งด้วย

มาตรการที่ 5. รณรงค์และขอความร่วมมือ กับเจ้าของสุนัข ให้ทำหมันสุนัขที่ไม่ต้องการจะมีลูก เพื่อป้องกันการแพร่ขยายพันธุ์ ของสุนัขโดยไม่ตั้งใจ ส่วนสุนัขที่อยู่ในเคหะสถาน โอกาสที่สุนัขจะออกมาผสมพันธุ์กันเอง ก็เป็นไปได้ยาก จึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุจริงๆ เมื่อไม่มีการขยายพันธุ์เพิ่มของสุนัขจรจัด สุดท้ายสุนัขจรจัดที่เหลืออยู่ ก็จะค่อยๆ ลดจำนวนลง และหมดไปในที่สุดครับ
 
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้