เคล็ด (ไม่) ลับ “การถนอมดวงตา” เจ้าตูบและน้องเหมียว

27057 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 

บทความพิเศษ
เรื่องโดย… ทีมสัตวแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

  

เคล็ด  (ไม่) ลับ “การถนอมดวงตา” เจ้าตูบและน้องเหมียว

      ดวงตา เป็นอวัยวะสำคัญที่ควรแก่การทะนุถนอม เพราะบอบบาง สามารถเกิดแผลหรือ โดนกระทบกระแทกได้ง่าย โดยเฉพาะสุนัขและแมวพันธ์หน้าสั้น และตากลมโตเมื่อเกิดความผิดปกติที่ตาแม้เพียงนิดก็ทำให้เกิดความไม่สบายขึ้นมาทันที  ดังนั้นทางโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อจึงฝากความห่วงใยมายังเจ้าของสุนัขและแมวให้หมั่นดูแลและระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่จะสายเกินไป

หมั่นดูแลป้องกันก่อนเกิดการอักเสบที่ตา
     การเกิดการอักเสบที่ตา อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ จึงต้องระมัดระวัง เช่น เวลาอาบน้ำ หรือใช้หวีๆขน ให้ระวังแชมพูหรือหวีไปโดนตา การล้างหน้าในขณะอาบน้ำหากไม่สกปรกมากให้ล้างด้วยน้ำเปล่า แต่ถ้าสกปรกมากให้ใช้แชมพูชนิดอ่อนใสเจือจางด้วยน้ำ แล้วล้างเฉพาะส่วนที่สกปรก เช่น ที่แก้ม และคาง นอกจากนี้ให้ระวังอันตรายจากฝุ่นผง โดยเฉพาะในเขตก่อสร้างหรือแม้กระทั่งเวลาปัดกวาดบ้าน ถ้าให้เจ้าตูบอยู่ด้วย ฝุ่นก็อาจเข้าตาได้ 
     หากพบว่าสุนัขและแมว มีอาการ ตาแดง ใช้ขาหน้าเกาตา ไถตาไปกับพื้น ผ้าขนหนู หรือน้ำตาไหลมากผิดปกติ มีขี้ตาขาวขุ่นหรือเขียว ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตา ให้รีบสังเกตอย่างใกล้ชิด และถ้าอาการมีมากขึ้น ไม่มีทีท่าว่าจะหายเอาง่ายๆ ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์โดยทันที
อันตรายจากอุบัติเหตุและแรงกระแทก
                                    
     การเกิดการกระแทก สามารถเกิดได้จากภาวะอันตรายจากกอุบัติเหตุต่างๆ ที่จะมากระแทกบริเวณลูกตา ซึ่งอาจทำให้กระจกตาเป็นแผล หากรุนแรงมากอาจถึงขั้นทำให้ลูกนัยน์ตาถลนออกนอกเบ้าตามากน้อยแล้วแต่ความรุนแรง จำเป็นต้องต้องรีบดันตากลับแล้วเย็บพยุงตาไว้เป็นการด่วน เพราะเวลาโดนกระแทกเส้นประสาทตาก็อาจถูกกระทบกระเทือนได้ และหากทิ้งไว้นานโอกาสสุนัขอาจมีโอกาสตาบอดถาวรมากขึ้น
     อุบัติเหตุที่พบได้บ่อยคือ การต่อสู้กันระหว่างสุนัข ซึ่งในการต่อสู้กัน บริเวณใบหน้าและดวงตามักเป็นเป้าโจมตีหลักเสมอ ดังนั้นถ้ารู้ว่าตัวไหนที่เป็นคู่อริกัน ก็ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้พบปะกันจะเป็นการดีที่สุด และหากจะนำสัตว์เลี้ยงตัวใหม่เข้าบ้านก็ควรเลือกเพศและวัยที่ต่างกันกับที่เลี้ยงอยู่ จะสามารถช่วยลดอาการเขม่น เหม็นหน้ากันได้
หมั่นสังเกตความผิดปกติในรูปทรงของลูกตา
     เนื้องอก มักเกิดกับสุนัขหรือแมวอายุมากๆ (มากกว่า 6 ปี) โดยสุนัขมักพบเนื้องอกที่ผิวหนังใกล้ๆลูกตา หรือบริเวณหนังตาส่วนใน แมวมักเกิดเนื้องอกภายในลูกตา ทำให้ตาบวมถลนออกนอกเบ้า มีก้อน มีตุ่ม ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า


     ต้อหิน อาจเกิดจากการกระทบกระแทก หรือลักษณะกายวิภาคของลูกตาที่ที่ง่ายต่อการอุดตันการไหลเวียนของน้ำภายในลูกตา ทำให้ความดันตามากเกินปกติ (มากกว่า 25 mmHG) ตาจะมีลักษณะบวมโต แดง บางครั้งอาจพบว่ากระจกตาเปลี่ยนเป็นสีขุ่นหรือสีฟ้า มีน้ำตาไหล สุนัขมักซึมไม่กินอาหาร หรือกินน้อยเนื่องจากความเจ็บปวด โรคนี้อันตรายมากถ้าทิ้งไว้อาจตาบอดได้ภายใน 1-3 วัน

     สิ่งแปลกปลอมหรือขนทิ่มตา สิ่งแปลกปลอม เช่น เมล็ดพืช แมลง ปีกแมลง ฝุ่นผง และในสุนัขที่มีโรคพยาธิหนอนหัวใจที่ตัวอ่อนอาจว่ายหลุดเข้าไปที่ช่องหน้าตาได้ (ต้องใช้กล้องตรวจตาส่องดู) บางครั้งพบว่ามีขนที่ขึ้นผิดปกติ แยงตา และในสุนัขบางพันธุ์ เช่น เชาเชา, ชาไป่ ที่หนังย่นจนบางทีหนังตาม้วนเข้าไปทิ่มตาได้ ทำให้ตาอักเสบแดง มีอาการคัน เกาตา และน้ำตาไหลมาก
     การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา อาจทำได้โดยล้างตาด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำยาล้างตาชนิดอ่อน เช่น น้ำยาล้างตาบอริก 3 % โดยค่อยๆให้น้ำยาไหลรินไปที่หัวตา แล้วค่อยเอาสำลีเช็ดเบาๆ ห้ามเช็ดโดนกระจกตาเด็ดขาด ให้ปิดหนังตาเสียก่อนแล้วจึงเอาสำลีเช็ด แนะนำว่าอย่าให้สุนัขเกาตา หรือไถตา เพราะสิ่งแปลกปลอมจะ ยิ่งติดและทำให้เคืองตา พร้อมทั้งมีอาการปวดตามากขึ้น และควรรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อจะให้สัตวแพทย์ใช้เครื่องมือในการเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากลูกตา
                                     
     การอักเสบของต่อมหนังตาที่3 มักจะเห็นได้ง่าย โดยจะมีลักษณะเป็นก้อนนูนสีแดงอยู่ที่หัวตา ทำให้มีชื่อเก๋ไก๋อีกชื่อหนึ่งว่า “เชอรี่ อาย” ซึ่งการรักษาอาจทำได้โดยการให้ยาแก้อักเสบ หรือผ่าตัด
สังเกตความผิดปกตในการมองเห็น
     อาการต่างๆที่จะสังเกตได้อย่างชัดเจน คือ การเดินชนคนหรือสิ่งของ สามารถเดินขึ้นบันไดได้แต่ไม่สามารถลงได้ ไม่สามารถเดินเข้าหาเจ้าของหรือชามอาหารได้ถูก ไม่มองตามสิ่งที่ตกอยู่ตรงหน้า(สามารถทดสอบได้โดนการใช้สำลี) นอกจากนี้ ยังมีโรคอื่นๆที่มีผลต่อการมองเห็นนอกเหนือจากข้างต้น ดังนี้ โรคของแก้วตาหรือเลนส์ตา โรคจอประสาทตา และโรคของเส้นประสาทตา โรคดังกล่าวต้องใช้กล้องพิเศษในการส่องดูภายในลูกนัยน์ตา และหากตรวจพบความผิดปกติอาจรักษาได้ หรือชะลอไม่ให้เป็นมากได้
หมั่นตรวจเช็คน้ำตาของเจ้าตูบ 
                                      

 น้ำตาในคนนั้นสามารถบ่งบอกอะไรได้หลายอย่างโดยเฉพาะอารมณ์และความรู้สึก เช่นโกรธ  เสียใจ หรือแม้กระทั่งดีใจตื้นตันใจ แต่ในสุนัขนั้นน้ำตาสามารถบ่งบอกโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตาสุนัขได้ ตั้งแต่สีเช่น สีน้ำตาล  สีเขียว  สีขาวขุ่น หรือสีใส สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงลักษณะการติดเชื้อ โรคหรือเป็นสิ่งที่จะประกอบการช่วยวินิจฉัยโรคตาได้  ทั้งนี้ปริมาณน้ำตาของสุนัขยังสามารถเป็นข้อมูลในการวินิจฉัยโรคต่างๆ ได้ 

ปริมาณน้ำตามีผลต่อตาของสุนัขอย่างไร
     สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการวัดปริมาณน้ำตาสุนัขที่ได้มาตรฐานและได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ในปัจจุบันคือ Schirmer Tear Test (STT)  เป็นกระดาษแผ่นบางชิ้นเล็ก ใช้สอดเข้าไปบริเวณเปลือกตาล่าง แล้วทิ้งไว้ 1 นาที ดูว่าน้ำตาซึมเข้ามาที่กระดาษกี่มิลลิเมตร หากค่า STT มากกว่า 15 มิลลิเมตร แสดงว่าเป็นปกติ หากค่า STT เท่ากับ 10-15 มิลลิเมตร แสดงว่ามีแนวโน้มเป็นโรคตาแห้ง หากค่า STT น้อยกว่า 10   มิลลิเมตร  แสดงว่าเป็นโรคตาแห้ง

     สำหรับสุนัขที่วัดได้ค่า STT มากกว่า 20-25 มิลลิเมตร ต้องดูด้วยว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร และมีอาการอย่างไร เช่น สุนัขมีน้ำตาไหลมากร่วมกับอาการหรี่ตาหรือตาแดงมาก อาจเป็นปัญหาจากการที่กระจกตาเป็นแผล  หรือ กระจกตาอักเสบ แต่ถ้าสุนัขมีน้ำตาไหลมากโดยไม่มีปัญหาตาแดง ไม่มีอาการหรี่ตา น้ำตาที่ไหลออกมาเป็นน้ำตาใสๆ ร่วมกับมีคราบติดบริเวณร่องจมูก เราสามารถแบ่งปัญหานี้ออกเป็น 2 สาเหตุใหญ่ คือ ผลิตน้ำตามากเกินไป เนื่องจากมีการระคายเคืองจากขนตาขึ้นผิดที่ก็เป็นไปได้   หรือ มีการผลิตน้ำตาเท่าเดิมแต่การระบายออกไม่ดีเช่นมีการอุดตันของท่อน้ำตา  ท่อน้ำตาตีบ  ท่อน้ำตาอักเสบ หรือเป็นโรคมาแต่กำเนิด

        กรณีที่มีปัญหาน้ำตาน้อยเกินกว่าปกติวัด STT ได้ 10   มิลลิเมตร ต่อ 1 นาที  วินิจฉัยว่าเป็นโรคตาแห้งซึ่งอาการส่วนใหญ่สุนัขจะมีขี้ตาเยอะมาก ขี้ตาแห้งกรัง เช็ดขี้ตาให้สุนัขแล้วสักพักก็เป็นอีก  หรือสุนัขมีปัญหาตาแดงมานานมาก  กระจกตาขาวขุ่น มีเม็ดสีดำ น้ำตาลขึ้นที่กระจกตา อาการที่กล่าวมาข้างต้นเป็นอาการของสุนัขที่เป็นโรคตาแห้ง สาเหตุส่วนใหญ่ได้แก่ระบบภูมิคุ้มกัน (immune mediated)  สายพันธุ์ (breed predisposing)  พันธุกรรม (genetic) การติดเชื้อ (infection)  อายุ (aging)
                                                                 
 

 

              หากคุณคิดว่าสัตว์เลี้ยงของคุณเริ่มมีปัญหาที่ดวงตา สามารถติดต่อเพื่อขอตรวจและวัดน้ำตาด้วย STT ได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ซอยทองหล่อ  โทร. 0-2712-6301-4  สาขาลาดพร้าว โทร. 0-2934-1407-9 สาขาสิรินทร-ปิ่นเกล้า โทร.0-2433-7550-1 หรือติดตามข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้ที่  www.thonglorpet.com     

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้