โรคไข้หัด

9580 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 
โรคไข้หัดสุนัข
อ.สพ.ญ.นงเยาว์ สุวรรณธาดา

     ไข้หัดสุนัข  ชื่อภาษาอังกฤษคือ Canine Distemper เราคงคุ้นหูกันดี โรคนี้เป็นแล้วต้องตายจริงหรือ เรามาหาคำตอบกันดีกว่า โรคไข้หัดสุนัขเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละชนิดกับไข้หัดในเด็กหรือหัดเยอรมันในคน และไม่ติดคนสบายใจได้ กล่าวกันว่าโรคนี้เป็นโรคที่ทำให้สุนัขมีอัตราตายสูง ฟังดูหน้าตกใจ ที่จริงแล้วสุนัขมีอัตราติดเชื้อสูงแต่อาจไม่แสดงอาการป่วย ซึ่งขึ้นกับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส และสุนัขบางตัวมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้สูง โรคนี้พบมากในลูกสุนัขช่วงอายุระหว่าง 3-6 เดือนซึ่งเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่ลดลง

     เชื้อไวรัสไข้หัดสุนัขมีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์เป็นชนิดที่ไม่แสดงอาการ บางสายพันธุ์ทำให้เกิดโรคอย่างฉับพลันมีโอกาสเกิดสมองอักเสบได้ ทำให้สัตว์ตายสูง บางสายพันธุ์ทำให้สุนัขผอมแห้ง ทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ และอัตราตายสูง แต่ไม่พบอาการทางประสาท อย่างไรก็ตามทุกสายพันธุ์มีผลกดภูมิคุ้มกันของสุนัข เชื้อไวรัสไข้หัดสุนัขไม่ทนต่อความร้อน อุณหภูมิ 50-60 องศาเซลเซียสสามารถทำลายเชื้อได้ ความแห้ง ผงซักฟอก น้ำยาที่ละลายไขมันต่าง ๆ ตลอดจนน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไปที่ใช้ทำความสะอาดพื้นคอก กรง ชามอาหาร สามารถทำลายเชื้อได้ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ไวรัสจะอยู่ได้ 1 ชั่วโมง

การติดต่อและผลที่เกิดกับร่างกาย
     สุนัขป่วยติดโรคโดยการหายใจเอาเชื้อเข้าไป อาจโดยจมูกต่อจมูกสัมผัสกัน หรือละอองไวรัสจากปากหรือจมูกสัตว์ป่วยเข้าไปทางจมูก ปาก หรือเยื่อตา เชื้อเพิ่มจำนวนและผ่านหลอดน้ำเหลืองสู่ต่อมน้ำเหลืองต่าง ๆ ในวันที่ 2-4 หลังจากรับเชื้อ ต่อมาต่อมน้ำเหลืองจะถูกทำลายพร้อมกับไวรัสเพิ่มจำนวน ในวันที่4-6 สัตว์จะมีไข้สูง หลังจากนั้นเชื้อไวรัสจะเข้าสู่เยื่อบุอวัยวะต่าง ๆ และเนื้อเยื่อสมองส่วนกลางในวันที่ 8-9 หลังจากรับเชื้อโดยการแพร่ไปทางกระแสเลือด ถ้าสัตว์ที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูง จะป้องกันไวรัสไม่ให้เข้าไปในเยื่อบุอวัยวะต่าง ๆ และยับยั้งการแพร่ของไวรัสได้และอาการป่วยจะหายไปในวันที่ 14 แต่ถ้าสัตว์ป่วยไม่มีภูมิคุ้มกันในระดับที่สูงพอไวรัสจะกระจายเข้าสู่เซลล์บุต่าง ๆ ของทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ ทางเดินระบบสืบพันธุ์และขับถ่าย ตลอดจนผิวหนังและต่อมต่าง ๆ ซึ่งจะแสดงอาการต่าง ๆ ให้เห็น ในขณะเดียวกันภูมิคุ้มกันภายในร่างกายจะค่อย ๆ สูงขึ้นช้า ๆ และอาจทำให้สัตว์หายป่วยได้ ถ้าสายพันธุ์ของไวรัสที่สัตว์ได้รับไม่รุนแรงมากหรือไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อน อย่างไรก็ตามมีโอกาสที่ไวรัสจะยังคงอยู่ในเนื้อเยื่อที่สำคัญบางส่วนเช่น ในม่านตา ในเซลล์ประสาท และฝ่าเท้า ซึ่งจะเป็นสาเหตุของอาการทางประสาทในระยะต่อมา

อาการของสุนัขที่เป็นโรค
     อาการของโรคไข้หัดสุนัขมีหลากหลาย สุนัขที่ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการให้เห็น หรือแสดงอาการไม่รุนแรง ไปจนถึงประเภทรุนแรง และตามด้วยอาการทางประสาทไปจนถึงสุนัขตายอาการที่พบ เช่น ท ไข้สูง และลดลงมาเป็นปกติในวันที่ 7-14 ระยะต่อมามีน้ำตาใส ๆ และกลายเป็นหนองข้น
ท ไม่กินอาหาร บางครั้งอาเจียนเนื่องจาก ทอนซิลอักเสบ
ท มีน้ำมูกใสต่อมากลายเป็นมูกหนอง ระยะต่อมาจะไอและหายใจลำบาก
ท ท้องเสียเป็นมูก หรือปนเลือด และอาเจียน
ท ตุ่มหนองตามผิวหนัง ฝ่าเท้าแข็งมักพบในรายเรื้อรัง บางรายพบปลายจมูกแข็ง
ท ที่ตาพบ แผลหลุมที่กระจกตา สัตว์ป่วยสูญเสียการมองเห็น เนื่องจากประสาทตาอักเสบ
ท กล้ามเนื้อกกหูสั่นกระตุก กล้ามเนื้อขากระตุก ขาหลังอ่อนแรง เดินโซเซ เดินวน เดินเอียง ตากรอก ชักแบบเคี้ยวปาก

จะป้องกันและรักษาโรคได้อย่างไร ?
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ได้ผล การให้การรักษา เป็นการรักษาตามอาการและเพียงเพื่อบรรเทาอาการลง สัตว์ป่วยบางรายขณะตรวจยังไม่มีอาการทางประสาท แต่อาจมีอาการทางประสาทได้ในเวลาต่อมา สุนัขอายุน้อยจะได้รับภูมิคุ้มโรคจากแม่ผ่านทางนมน้ำเหลืองและสามารถคุ้มโรคได้จนอายุ 6-8 สัปดาห์ ดังนั้นจึงควรพาสุนัขไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้หัดสุนัขตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ และสัตวแพทย์จะกำหนดวันที่ต้องฉีดกระตุ้นวัคซีนให้กับสุนัขของท่าน หลังจากนั้นสุนัขควรได้รับการฉีดวัคซีนซ้ำเป็นประจำทุกปี
แม้ไข้หัดสุนัขจะฟังดูน่ากลัว เพราะป่วยแล้วโอกาสตายสูง ไม่มีวิธีรักษาเฉพาะ แต่เรามีวิธีป้องกันโรคที่ได้ผล และผู้เลี้ยงสุนัขทุกท่านควรให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ในสุนัขเพราะให้ผลในการป้องกันโรคได้ดี และค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคจะประหยัดกว่าค่ารักษาอย่างมาก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้