โรคไข้น้ำนม Eclampsia in Dogs โรคไข้น้ำนมเป็นโรคที่เกิดอย่างเฉียบพลันทันทีที่ระดับแคลเซี่ยมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia) พบได้บ่อยในช่วงที่แม่สุนัขกำลังให้นมลูก สาเหตุเกิดเนื่องจากร่างกายของแม่สุนัขสูญเสียแคลเซี่ยมไปทางน้ำนม โดยได้รับแคลเซี่ยมทดแทนไม่เพียงพอ ภาวะขาดแคลเซี่ยมในสุนัขต่างจากของคน ในคนความดันเลือดจะผิดปกติก่อนคลอด สาเหตุโน้มนำ พบได้บ่อยในสุนัขมากกว่าแมว สุนัขพันธุ์เล็กมักเกิดโรคนี้ได้ง่ายกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่ มีลูกจำนวนมากในแต่ละครอก ท้องแรกมีโอกาสเสี่ยงสูงในการเกิดโรคไข้น้ำนม ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอระหว่างการตั้งท้องและให้นมลูก อาการมักแย่กว่าหากระหว่างการตั้งท้องให้แคลเซี่ยมเสริม พบบ่อยหลังคลอดลูกแล้ว 2 – 3 สัปดาห์ แต่บางครั้งก็พบว่ามีอาการไข้น้ำนมหลังหย่านมลูกไปแล้ว คือ ประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอด อาการ กระวนกระวาย, กระสับกระส่าย อยู่ไม่เป็นสุข หอบมาก อย่างที่เรียกว่าสุนัขหอบแดด ตัวเกร็ง, เดินลำบาก เนื่องจากเกิดตะคริว กล้ามเนื้อสั่นกระตุกหรือเกร็งแข็ง ชัก ไข้ขึ้นสูงมาก บางรายอาจถึง 106 – 108 องศาฟาเรนไฮต์ หายใจถี่และแรง ,หมดสติและตาย การวินิจฉัย โรคนี้เป็นโรคที่วินิจฉัยค่อนข้างง่าย โดยดูจากอาการและประวัติการคลอดลูก อาจตรวจค่าเคมีในเลือด โดยตรวจระดับแคลเซี่ยมในเลือด มักต่ำกว่า 7 มก/เดซิลิตร น้ำตาลในเลือดต่ำ การรักษา โรคไข้น้ำนมถือเป็นกรณีฉุกเฉินต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยการรักษาต้องให้ระดับแคลเซี่ยมกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด และลดการสูญเสียแคลเซี่ยมของร่างกาย โดยอาจต้องทำการหย่านมลูกสัตว์แล้วให้นมผสมกับลูกสัตว์แทน การรักษามักทำโดย ให้แคลเซี่ยมเข้าหลอดเลือดดำ ให้แม่สุนัขกินน้ำตาลเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ในรายที่ชักต้องให้ยากันชัก โดยเฉพาะในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการฉีดแคลเซี่ยมและให้น้ำตาลกินลดอุณหภูมิร่างกายสัตว์ลงโดยการประคบด้วยน้ำแข็ง หรือเช็ดตัวด้วยน้ำผสมแอลกอฮอล์ หย่านมลูกแล้วให้นมผสมแทน โดยต้องแยกแม่ออกจากลูกอย่างเด็ดขาด ให้แคลเซี่ยมเสริมโดยการกินเมื่ออาการคงที่แล้ว บางรายอาจให้ไวตามิน ดี เสริมการดูดซึมของแคลเซี่ยม การดูแล ให้ยาตามที่สัตวแพทย์สั่ง ต้องแยกแม่ออกจากลูกโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะในระยะ 24 – 48 ชั่วโมงแรกภายหลังได้รับการรักษาระมัดระวังเรื่องการให้นมลูกสัตว์ ไม่ควรเปลี่ยนนมบ่อย เพราะจะทำให้ลูกท้องเสียง่ายและอาจตายได้ ถ้าลูกยังเล็กควรให้ได้รับความอบอุ่นอย่างเพียงพอโดยเฉพาะในฤดูหนาว ถ้าแม่สุนัขแสดงอาการอีกให้รีบนำกลับไปหาสัตวแพทย์ การป้องกัน วิธีที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการให้แคลเซี่ยมเสริมในระยะตั้งท้อง แต่ให้อาหารแม่สุนัขที่สมดุลย์ โดยให้อาหารที่มีคุณภาพสูงและดูดซึมได้ดี การให้แคลเซี่ยมเสริมควรให้ภายหลังคลอดและแม่สุนัขอยู่ในระยะให้นมลูกเท่านั้น ในกรณีที่มีลูกสุนัขจำนวนมากควรให้นมผสมเสริมเพื่อป้องกันแม่ขาดแคลเซี่ยม |